HOME |ประวัติวัด | ร.ร.สอนภาษา | ติดต่อวัด | แผนที่ | ข่าวพุทธจักรฯ

ชีวประวัติ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพโมลี

อดีตเจ้าอาวาส ประธานสงฆ์ วัดพุทธจักรมงคลรัตนาราม เอสคอนดิโด้

4 ธ.ค.2471-3 ธ.ค.2551

ความเป็นมา
หลวงพ่อพระมงคลเทพโมลี เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2471 ณ บ้านเลขที่ 12 หมู่ 8 ต. คลองสิบสอง อ. หนองจอก จ. พระนคร มีนามว่า “โพธิ์” นามสกุล “สมนึกแท่น” โยมบิดาชื่อ ปลื้ม โยมมารดาชื่อ แช่ม โยมบิดามารดามีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คนด้วยกันคือ มีพี่สาว 5 คน ส่วนท่านเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว และเป็นลูกคนสุดท้อง โดยมีลำดับดังนี้
1. นางนิ่ม เสือจุ้ย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2. นางผ่อน ทับท่าไม้ ยังมีชีวิตอยู่
3. นางผัน บันเทิง (ถึงแก่กรรมแล้ว)
4. นางผาด แก้วลูกอินทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
5. นางเผือด สมนึกแท่น (ถึงแก่กรรมแล้ว)
6. เด็กชายโพธิ์ สมนึกแท่น (ผู้ซึ่งต่อมา คือ หลวงพ่อ พระมงคลเทพโมลี)


ตั้งแต่เยาว์วัยได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากโยมบิดามารดาด้วยความรักและอบอุ่น ตามสมควรแก่ฐานะจนถึงวัยอันสมควรจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดแสนเกษม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านที่สุด โดยสภาพท้องถิ่นเป็นที่ราบลุ่มเป็นท้องทุ่งกว้างขวาง มองโล่งสุดสายตาดินเหนียวสีดำ หน้าฝนจะปกคลุมด้วยหญ้าป่ากก และต้นข้าวสีเขียวขจี ให้ความรู้สึกสดชื่น เนื้อดินจะอ่อนนุ่ม ถ้ามีน้ำขังก็จะเป็นโคลนเลน การเดินทางไปมาหาสู่กันในหน้าฝนจะต้องเดินบนคันนา หรือใช้เรือแจวเรือพายเท่านั้น เดินลัดทุ่งนาไม่ได้แต่ในหน้าแล้งดินจะแห้ง แข็ง และแตกระแหง
ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงขอฝาก เด็กชายโพธิ์ ไว้กับหลวงปู่เปรม เจ้าอาวาสวัดแสนเกษม ให้อยู่เป็นเด็กวัด รับใช้หลวงปู่และเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนวัด เพื่อตัดปัญหาในการเดินทาง ครอบครัว พ่อแม่ก็มาทำบุญที่วัดเป็นประจำได้รับรู้ความเป็นอยู่ตลอดเวลา ตัดปัญหาเรื่องความห่วงหากังวลใจด้วยความรักลงได้
การอยู่กับพระผู้ใหญ่มีผู้คนหลายระดับชนชั้นมาเคารพกราบไหว้ท่านเสมอ ถือเป็นโชคดีที่มีโอกาสจะได้เติบโตมาพร้อมกับการซึมซับเอาสิ่งดีงาม จากผู้คนเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบหล่อหลอมชีวิตของตน เมื่อเรียนหนังสือจบชั้นประถมบริบูรณ์ (ประถมปีที่ 4) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ก็กลับมาอยู่ที่บ้านด้วยหวังจะช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพ และเป็นการฝึกงานเตรียมตัวเป็นเกษตรกรสืบต่อไป เมื่อเติบใหญ่ไปในภายภาคหน้า
เพียงปีแรก ที่กลับมาช่วยพ่อในอาชีพเกษตรกร ก็พบได้ด้วยตัวเองว่าเห็นท่าจะเอาดีทางนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบ (ฉันทะ) จึงขาดความขยันหมั่นเพียร (วิริยะ) ทำไปตามหน้าที่ ไม่มีความบากบั่น (จิตตะ) แม้จะต้องทำงานจนเสร็จก็ไม่ติดตามว่าผลเป็นเช่นไร (วิมังสา) แม้พ่อปลื้มเองในฐานะครู ก็มองออกว่า ลูก (ศิษย์) คนนี้คงเอาดีทางนี้ไม่ได้จึงมองหาลู่ทางที่เหมาะสมสำหรับลูกชายคนเดียวของตนต่อไป
พ.ศ. 2485 อายุได้ 14 ปี พ่อปลื้มจึงนำลูกชายกลับเข้าวัดอีกครั้ง ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระครูมนูญสีลขันธ์ วัดหนองจอก เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่ที่วัดแสนเกษมกับหลวงปู่เปรมอีกครั้ง แต่คราวนี้หลวงปู่เปรมมีอายุมากแล้ว อายุกว่า 90ปี (หลวงพ่อเล่าให้ฟัง) หลวงปู่ช่วยตัวเองได้น้อย ก็ต้องปรนนิบัติท่าน (คงรวมถึงการสรงน้ำป้อนข้าวด้วยบางครั้ง) เพียง 2 พรรษา หลวงปู่ก็สิ้น (ละสังขาร) และในช่วง 2 พรรษา สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ตามลำดับ หลวงปู่เปรม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์มีความขลังในหลายด้าน เช่นปลุกเสกปรอท ตะกรุดและน้ำมนต์ ได้เป็นที่พึ่งพิงช่วยขจัดทุกข์ร้อนของผู้ที่เคารพนับถือตลอดอายุของท่านในช่วงเวลาดังกล่าว สงครามมหาเอเชียบูรพายังไม่สงบมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯโดยเฉพาะแถวโรงไฟฟ้าวัดเลียบ,สพานพระพุทธยอดฟ้าและสำเพ็ง ผู้คนคอยฟังสัญญาณเตือนภัยและเสียงเครื่องบินจะได้วิ่งเข้าที่หลบภัยทัน เศรษฐกิจย่ำแย่ ไม้ขีดไฟหนึ่งก้านต้องผ่าครึ่งจะได้ใช้ ถึง 2 ครั้งเพราะหาซื้อยากของขาดตลาด (คำบอกเล่าของหลวงปู่ศุข)
ในเวลานั้นพระครูวินัยธรทองศุข สิริวัฑฒโน (เงินมา) ที่รู้จักกันต่อมา คือ หลวงปู่ศุข ท่านจำอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหารตำบลเสาชิงช้า เห็นว่าวัดอยู่ในย่านอันตราย ท่านจึงออกไปจำพรรษาที่วัดแสนเกษมอำเภอหนองจอก เพราะยังมีความปลอดภัย ด้วยห่างจากเขตสู้รบ ท่านจำอยู่ที่วัดแสนเกษมจนญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามสงบปี พ.ศ. 2487 สงครามสงบแล้ว หลวงปู่ศุขจึงย้ายกลับวัดสุทัศน์ฯและได้ให้สามเณรโพธิ์ติดตามมาด้วย คงเป็นเพราะมองเห็นแววและความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียน พอที่จะปลูกฝังให้เป็นศาสนทายาทและเป็นกำลังสำคัญในการธำรงพระศาสนาสืบไปในอนาคต ได้นำสามเณรมาฝากไว้ในสังกัดวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งเป็นอธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) ในขณะนั้น (คำบอกเล่าของหลวงปู่ไสว วัดหนองจอก)


ในปี พ.ศ. 2489 สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดสุทัศน์ฯ (คงจะเป็นระยะเวลานี้ที่ท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็น สุพจน์และเปลี่ยนนามสกุลเป็น ชูติรัตน์)


พ.ศ. 2492 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุทัศน์ฯ โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ =โสม ฉันนะมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระศรีสมโพธิ์ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ =เสงี่ยม จันทสิริมหาเถระ)เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระศรีสัจจญาณมุนี (พระมงคลราชมุนี =สนธิ์ ยตินธระเถระ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ได้รับฉายาว่า โชติปาโล ซึ่งแปลว่าผู้รักษาความสว่างโชติช่วง(แห่งธรรม)ขณะที่ท่านเป็นเด็กวัดและเป็นสามเณรอยู่ที่วัดแสนเกษม หลวงปู่เปรม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสผู้ปกครองก็เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิทยาคม เป็นที่เคารพของผู้คนในท้องถิ่นในยุคสมัยนั้น เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ท่านอยู่ใกล้กับหลวงปู่ศุข ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้เป็นเอกทางเลขผานาที เป็นเอกในการให้ฤกษ์ยาม ในการประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ ทำนายดวงชะตาราศี เพื่อขจัดความคับข้องใจความวิตกกังวล ของศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือทั่วไป น่าจะส่งผลผลักดันความสนใจส่วนตัวที่ท่านมีอยู่ ให้มีพลังมากขึ้น ทำให้ความตั้งใจที่จะศึกษาชั้นภูมิที่สูงขึ้นในทางปริยัติธรรมเปลี่ยนเป็นความสนใจในด้านวิทยาคม แทน ด้วยความสนใจในการเรียนวิทยาคมต่าง ๆ ในปลายปี พ.ศ.2492 หลังออกพรรษาแรก ท่านก็ได้พระมหาอำนวย (ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะ14 วัดสุทัศน์ฯ จนถึงมรณภาพ) เป็นพระสหจร (เพื่อนร่วมทาง) ไปเรียนวิทยาคมต่าง ๆ จากหลวงปู่แต้ม วัดพระลอยเมืองสุพรรณ (จ. สุพรรณบุรี)วิชาที่เล่าเรียนคือตำราการทำพระเครื่องจากผงต่าง ๆ และการเสกน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งหนึ่ง คือการไปเรียนอาคมจากหลวงปู่หงส์ เมืองนครสวรรค์ (ไม่ทราบเวลา และสถานที่) นอกจากนั้นท่านยังได้เรียนคาถาอาคมจากท่านเจ้าคุณสนธิ์ (พระมงคลราชมุนี=ตำแหน่งสุดท้าย) อยู่หลายปี รวมทั้งการเรียนอักษรขอม เพื่อลงอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ(บันทึกส่วนตัว) รวม ทั้งการเรียนการทำนายดวงชะตา ส่วนรายละเอียดนั้นคงเป็นไปตามวิธีการเล่าเรียนในยุคสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านเน้นหนัก คือสมาธิ คิดจะทำอะไรก็ตามความตั้งใจแน่วแน่ ทำจิตให้มั่นคงทำให้เวทย์มนตร์ คาถาอาคมมีความขลังท่านไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ที่จะทำทุกอย่างให้บรรลุผลแก่ศิษย์ผู้มีความเลื่อมใสและแก่ทุกคนที่มาหาท่าน อย่างเท่าเทียมกัน
ด้วยความตั้งใจจริง และมุมานะบากบั่น อย่างมั่นคง ท่านได้กลายเป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้มีชื่อเสียงเข้มขลังและเคร่งครัดในการประกอบพิธีต่าง ๆตามแบบอย่างของบูรพาจารย์ เพื่อความถูกต้องแน่นอน ได้รับการยอมรับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์เจ้าพิธี เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็นเจ้าพิธีในเรื่องสำคัญ ๆ เสมอ


สมณศักดิ์
ชีวิตในสมณเพศของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ดำเนินมาด้วยดีด้วยบุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น องอาจพูดจาฉาดฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีซุบซิบ ช่วยเหลืองานการคณะสงฆ์ทั้งในวัด นอกวัดด้วยความจริงใจไม่มีเหน็ดเหนื่อย เสียสละ และเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ น้อมรับใช้สนองงานด้วยความยินดี ท่านจึงได้รับเมตตาจากพระมหาเถระในสายงานปกครองเป็นอย่างดี และได้รับเลื่อนสมณศักดิ์มาตามลำดับ
(ด้วยผลงานอันโดดเด่นของท่านเอง) ดังต่อไปนี้
พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด (ฐานานุกรม)ใน “พระพุทธิญาณมุนี” (พุฒสุวัฑฒนะมหาเถระ) (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณฯ, กก.มหาเถรสมาคม)
พ .ศ .2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัด (ฐานานุกรม) ใน“พระราชพุทธิญาณมุนี”
พ.ศ.2503 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท จ.ป.ร. ที่ “พระครูพุทธมนต์วราจารย์”
พ .ศ .2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม(พระครูพุทธมนต์วราจารย์) โดยเป็นเจ้าคณะ 3 วัดสุทัศน์ฯ
พ.ศ. 2508 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษในพระราชทินนามเดิม (พระครูพุทธมนต์วราจารย์)
พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระพุทธมนต์วราจารย์”
พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระมงคลราชมุนี”
พ.ศ. 2520 คณะกรรมการมหาวิทยาลัยเคนซิงตั้น สหรัฐอเมริกาได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาทางศาสนาถือเป็นเกียรติประวัติแก่หลวงพ่อ และเป็นความยินดีแก่ศิษยานุศิษย์โดยทั่วกัน
พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระมงคลเทพโมลี” (ในระยะเวลาช่วงนี้ท่านได้เปลี่ยนชื่อตัว จาก “สุพจน์”เป็น “พูนทรัพย์”เพื่อให้เป็นมงคลนาม)
พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติเป็นที่น่ายินดีของศิษยานุศิย์โดยทั่วหน้ากัน


งานการปกครอง
เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เจ้าคณะ 3 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498เป็นพระวินยาธิการ คอยสอดส่องความประพฤติของพระภิกษุสามเณร ให้อยู่ในระเบียบวินัยและกฎระเบียบพระราชบัญญัติ สังฆาณัติและกติกาอื่นๆ ในการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2504
เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้การบรรพชา-อุปสมบทแก่ผู้มีศรัทธาในต่างประเทศได้ เมื่อปี พ.ศ. 2530
เป็นหัวหน้าสงฆ์ วัดไทยลอสแองเจลีส ที่นอร์ธ ฮอลลี่วูด มลรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2516-2521) (ได้รับแต่งตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2518)
ได้จัดตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดมงคลรัตนาราม ซาน ฟรานซิสโก เบย์แอเรีย ที่เมืองเบิร์กเล่ย์มลรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา (ในปี พ.ศ. 2521) โดยเริ่มแรกได้เปิดเป็นวัดชั่วคราว ที่บ้านเลขที่ 794 Grand Avenue, South San Francisco, California 94080โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ( วาสน์
วาสนะมหาเถระ) วัดราชบพิธ เป็นองค์ประธานเปิด
ได้จัดตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดมงคลรัตนารามเมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในปี พ.ศ. 2524)
ได้จัดตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดพระศรีรัตนารามเมืองเซ็นต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในปี พ.ศ. 2525)
จัดตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดพุทธจักรมงคลรัตนาราม ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในปีพ.ศ. 2529) ที่ Mililami Town ปัจจุบันย้ายมาตั้งอย่างถาวร อยู่ที่ Pearl City
ก่อตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดมงคลรัตนารามซานดิเอโก ซึ่งตั้งอยู่ที่ เมืองเอสคอนดิโด มลรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา (ในปี พ.ศ. 2533)
ก่อตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริหาร วัดมงคลรัตนารามเมืองฟอร์ต วอลตัน บีช มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา (ในปี พ.ศ. 2539)
เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ในขณะที่ว่างเจ้าอาวาสเพราะพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระโสภณวชิรธรรม (สีนวล) ได้มรณภาพลงดำรงสถานะเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสองค์แรก ของวัดพุทธจักรมงคลชยาราม แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ในขณะที่วัดกำลังก่อสร้างโดยมี พล อ.วันชัย เรืองตระกูล เป็นประธานอุปถัมภ์ในการก่อสร้างฝ่ายฆราวาส จนสำเร็จลุล่วง ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้


งานด้านก่อสร้าง
หาทุนและซ่อมแซมกุฏิคณะ 3 วัดสุทัศน์ ให้มีสภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยรักษาสภาพภายนอกให้เหมือนเดิม ตามข้อบังคับ และรูปแบบที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร
เป็นกรรมการหาทุนตั้งมูลนิธิอัฐมราชานุสรณ์ เพื่อนำดอกผลมาซ่อมแซม และทำนุบำรุงวัดสุทัศน์ฯ (ประมาณปี พ .ศ. 2515-2516)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าสามัคคีและยกช่อฟ้าพระวิหารหลวงใหม่ (แทนของเดิมที่ชำรุด) ในคราวนั้นมีการจัดสร้างวัตถุมงคล คือ พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดง ให้สาธุชนผู้สนใจจอง- เช่าไว้ เพื่อเป็นของมงคลแก่ตัว นอกจากหลวงพ่อจะเป็นกรรมการ และเป็นเจ้าพิธีในการปลุกเสกแล้วยังเป็นจุดรับจอง-เช่าวัตถุมงคลดังกล่าว จะเห็นว่าประตูคณะ 3 วัดสุทัศน์ฯเปิดรับศรัทธาชนทั่วไป ที่สนใจมาเช่าพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เกือบตลอด 24 ชั่วโมง
เป็นกำลังหลักในการก่อสร้างอาคารเรียน ”มงคลราชมุนี” ของโรงเรียนวัดแสนเกษม เขตหนองจอกกรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่ เพราะเหตุผลทางสถาปัตยกรรม) ก่อนนี้ ก็ได้เป็นแรงสำคัญในการจัดทอดกฐินสามัคคี หาทุนสร้างกุฏิสงฆ์และสร้างโบสถ์จนเสร็จ
เป็นผู้ริเริ่มและก่อสร้างวัดพุทธจักรมงคลชยาราม แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จลุล่วงไป ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะเป็นหัวหน้าสงฆ์ วัดไทยลอสแองเจลีส เมืองนอร์ธฮอลลี่วูดได้ดำเนินการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ (หลังใหม่ หลังเดียวที่ก่อสร้างเอง) และก่อสร้างอุโบสถ ต่อจากที่ก่อสร้างค้างไว้ เริ่มจากการตั้งเสา โครงอาคาร ถึงโครงหลังคา เดินสายไฟฟ้า และนำกระเบื้องมุงหลังคาจากเมืองไทย พร้อมทดสอบผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคาร ของเทศบาลนครลอสแองเจลีสซึ่งเป็นเขตปกครอง แต่ยังไม่ได้มุง สั่งแกะสลักประตู-หน้าต่างไม้สักพร้อมทั้งได้สร้างรั้วรอบวัด ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
งานก่อสร้างชิ้นสุดท้ายของท่าน คือ สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์-ห้องสมุดที่วัดแสนเกษม แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เสร็จเรียบร้อย และฉลอง เมื่อ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ตลอดเวลาแห่งชีวิต ท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ ทั้งในฐานะกรรมการและเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือ ในการก่อสร้างสาธารณสถานต่าง ๆ มากมายแต่ถ้าเป็นเพียงครั้งคราว เมื่อไม่มีรายละเอียดเป็นหลักฐานประจักษ์และมีข้อจำกัดในการสืบค้นให้ครบสมบูรณ์ ก็จะงดเว้นไม่กล่าวถึงเสียเป็นส่วนมาก หวังว่าทุกท่านคงอภัยในข้อจำกัดนี้


งานด้านการศึกษาและเผยแผ่
ในปี พ.ศ. 2513 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อช่วยเป็นภาระในการสอดส่อง ดูแล ช่วยเหลือให้การปริยัติศึกษาในสำนักเจริญก้าวหน้าต่อไป
ร่วมก่อตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นกรรมการอุปถัมภ์ ช่วยให้การดำเนินการต่าง ๆเป็นไปด้วยดี ช่วยประสานงานในการหาแรงสนับสนุน ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งกองทุนการศึกษา มอบรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์สูง เพื่อเป็นกำลังใจ
ตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดไทย ลอสแองเจลีส ในปี 2518 โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกะมหาเถระ) วัดสังเวชวิศยาราม เป็นองค์ประธานเปิด และได้เปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ขึ้นในทุกวัด ที่ท่านเป็นประธานอำนวยการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาภาษวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและศิลปะไทย แก่เยาวชนเชื้อสายไทย และแก่คนทุกเพศ-วัย และทุกเชื้อชาติ ที่มีความสนใจใคร่เรียนรู้ อันเป็นการเผยแผ่ และอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ให้ยืนนาน
อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ท่านเป็นหัวหน้าสงฆ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ที่วัดไทย ลอสแองเจลีสนั้น ท่านได้ส่งพระสงฆ์ และครูหรือผู้มีความสามารถพิเศษ ไปประกอบศาสนกิจ และสอนภาษา-ศิลปะแก่ชุมชน ที่อยู่ห่างไกลและสามารถที่จะรวมกันเป็นกลุ่มได้ เช่นที่ฐานทัพอากาศจอร์จ (George AFB.) เมือง อดีแลนโต้และฐานทัพอากาศนอร์ตั้น (Norton AFB.) เมืองซานเบอร์นาดิโน่ เป็นต้นทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ (ภายหลักิจกรรมนี้ได้เลิกไป เพราะข้อจำกัดของบุคลากร) ปัจจุบันนี้ฐานทัพอากาศทั้งสองแห่งได้ปิดไปแล้ว ตามสถานการณ์ของโลก


เพิ่มเติม
ในการสร้างวัดไทยลอสแองเจลีส หลวงพ่อมีความเกี่ยวข้องอยู่มากพอจะลำดับความเป็นมาได้ดังนี้
หลังจากที่พระเดชพระคุณ พระธรรมโกษาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ)มอบให้ พระมหาธีรพันธ์ เมตตาวิหารี ไปอยู่ และได้ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายฆราวาส ขอยื่นจดทะเบียนองค์กรขึ้นเป็นวัด มีชื่อว่าศูนย์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท (Theravada Buddhist Center) และภายหลังเรียกว่าวัดไทย โดยมีที่ทำการอยู่ที่บุชการ์เด้น จากนั้น พระเดชพระคุณพระธรรมโกษาจารย์ ได้จัดส่งพระรัตนตรัยไปให้ครบ คือพระพุทธ ได้แก่พระพุทธรูป (พระพุทธชินบพิตรลอสแองเจลีสอภิปูชนีย์) พระประธาน, พระธรรม ได้แก่ หนังสือพระไตรปิฎก และพระสงฆ์ คือพระภิกษุนอกจากพระมหาธีรพันธ์ที่กล่าวถึงไปแล้ว ท่านได้ส่งพระมหาโสบิน โสปาโก,พระมหาเขื่อนคำสันติกะโรและพระองอาจ จันทะโชโต โดยมีพระพุทธมนต์วราจารย์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปจากประเทศไทย การเดินทางไปคราวนั้นเป็นข่าวดังถึงกับลงหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยทีเดียวเพราะว่า เมื่อคณะเดินทางถึงสนามบินฮาวาย ซึ่งจะต้องมีการตรวจลงตราหนังสือเดินทางและผ่านการตรวจทางศุลกากรเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะการแต่งตัวก็ได้ แต่ที่สำคัญ คือมีสัมภาระมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะท่านจะไปอยู่นาน รวมไปถึงประเภทของอนุญาตเข้าเมือง (VISA) การตรวจใช้เวลานาน ทำให้ท่านไม่ได้เดินทางไปกับเครื่องบินที่จะไปลอสแองเจลีสในวันนั้น(ตกเครื่องบิน) ในขณะความวุ่นวายนั้นได้มีผู้ถ่ายภาพส่งมาลงหนังสือพิมพ์รายวันในประเทศไทยด้วย (ว่าพระไทยถูกจับกักตัวไว้ที่ฮาวาย) และทางเจ้าหน้าที่ ได้ขอรายละเอียดจากทางสถานทูตไทยในอเมริกา เพื่อประกอบการตัดสินใจอนุญาตให้เข้าเมืองได้พระสงฆ์ต้องค้างคืนที่ฮาวายโดยไม่ได้ตั้งใจ (จำวัดโรงแรมฟรีที่ฮาวาย 1 คืน)
วัตถุประสงค์ อีกอย่างหนึ่งของการเดินทางไปในคราวนั้น ก็คือการไปเตรียมการต้อนรับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ,วัดโพธิ์) ที่เดินทางรอบโลก แล้วจะแวะนคร ลอสแองเจลีส ทางคณะกรรมการศูนย์ฯ ได้พยายามหาสถานที่เพื่อตั้งวัดเสียใหม่ ให้เป็นที่มั่นคงเพราะสถานที่ที่ตั้งวัดในขณะนั้นไม่สามารถตั้งเป็นวัด และประกอบกิจกรรมทางศาสนาได้เพราะ เป็นเขตที่อยู่อาศัยเท่านั้น และสุดท้ายก็ได้สถานที่ตั้งวัดในปัจจุบันนี้
เมื่อท่านเจ้าประคุณฯ เดินทางไปถึง คณะกรรมการศูนย์ฯพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้จัดพิธีถวายโฉนดที่ดินสร้างวัด โดยจัดพิธีถวายกันที่ทำเนียบกงสุลไทยในนครลอสแองเจลีส ซึ่งมี ม.จ. ยุธิษเฐียร สวัสดิวัฒน์กงสุลใหญ่ประจำนครลอสแองเจลีส ในเวลานั้น ร่วมเป็นประธานและเป็นสักขีพยานที่สำคัญ
ต่อจากวันนั้น ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์วัด ณ สถานที่ดังกล่าวโดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ที่ลืมไม่ได้คือ หลวงพ่อฯ เป็นเจ้าพิธี และผู้เตรียมการจัดหาศิลาฤกษ์ และ สิ่งประกอบพิธีต่าง ๆ จนทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี เสร็จงานนี้หลวงพ่อก็เดินทางกลับเมืองไทย ไม่ได้อยู่จำพรรษากับพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันในคราวนั้น
อีกฐานะหนึ่ง หลวงพ่อเป็นกรรมการและเลขานุการ ของคณะกรรมการหาทุนสร้างวัดไทยในอเมริกาฝ่ายสงฆ์ (ในประเทศไทย)จึงมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ตลอด จนวัดมีความมั่นคงอย่างในปัจจุบัน คณะกรรมการจึงสลายตัวไปโดยปริยาย
นอกจากงานเผยแผ่พระศาสนาในเมืองไทย และประเทศสหรัฐอเมริกาเท่าที่พอจะรวบรวมมาได้ ท่านยังได้เดินทางไปฉลองศรัทธา โปรดญาติโยมในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามนั้นท่านยังตั้งใจจะเดินทางไปโปรดญาติโยมอีก เพราะยังมีผู้มีจิตศรัทธานิมนต์ค้างไว้ แต่โอกาสเช่นนั้นก็เป็นอันระงับไป เพราะท่านได้ละสังขารไปเสียก่อน


งานสาธารณูปการ (สังคมสงเคราะห์)
ในช่วงสงครามอินโดจีน ประเทศไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม ที่รู้จักกันทั่วไป คือกองพลจงอางศึก (ในราวปี 2505) และกองพลเสือดำ (ในปี 2512) คราวนั้นเวลาเช้าตรู่ เป็นเวลาปล่อยกำลังพลออกศึเสียงพระสวดชะยันโต หลวงพ่อพระพุทธมนต์วราจารย์ ยืนบริกรรมอาคมพร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่กำลังพลที่เดินแถวผ่านหน้า เพื่อเป็นการปลุกขวัญสร้างกำลังใจ และขอให้มนตานุภาพเป็นเครื่องคุ้มครอง ป้องปกให้ปลอดภัยจากอริราชศัตรู นำชัยกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ
ด้วยความสามารถของเหล่าทหารหาญ และอานุภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมือง และกำลังใจที่ดี กำลังพลเหล่านั้นกลับบ้านด้วยชัยชนะโดยสวัสดิภาพ พร้อมเกียรติประวัติอันงดงาม เมื่อโอกาสเหมาะสมกำลังพลส่วนหนึ่งได้ขอเข้ารับการอุปสมบทที่วัดสุทัศน์ฯทั้งสองครั้ง ด้วยสายสัมพันธ์แห่งศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ ทางทหารสื่อสารได้เคยถวายความอุปถัมภ์ เครื่องขยายเสียง พร้อมกำลังพลผู้ควบคุม ในงานประจำปีของวัดสุทัศน์ฯ อยู่หลายปี ทางสถานีวิทยุรักษาดินแดนก็เคยมาช่วยถ่ายทอดรายการบันเทิง เช่นดนตรีลูกทุ่ง เป็นต้น ในงานประจำปีของวัด ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น
เป็นประธานอำนวยการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ชื่อโครงการ “สวนป่าหลวงรักษ์น้ำ” ในเนื้อที่ 340 ไร่ที่ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี (เริ่มเมื่อ 9 มีนาคม 2539)เป็นกรรมการดำเนินการสร้างเหรียญ “พระชัยหลังช้าง ภปร.” เพื่อเทิดพระเกียรติ และบุญญาธิการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ หารายได้ทูลเกล้าถวายตามโครงการของมหาเถรสมาคม
บริจาคทรัพย์สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน แก่โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีในเวลาที่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง
เป็นผู้อุปถัมภ์โครงการธรรมะ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 อยู่ระยะหนึ่ง ในระยะที่ท่านสามารถทำได้
เป็นกรรมการดำเนินการสร้างเหรียญ “พระชัยหลังช้าง สก.” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและบุญญาธิการสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ รายได้ทูลเกล้าถวาย เพื่อสมทบทุนโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ตามโครงการของมหาเถรสมาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม
ในขณะที่หลวงพ่อเป็นหัวหน้าสงฆ์ ประจำวัดไทยในลอสแองเจลีสท่านได้ตั้งหน่วยบริการชุมชนชาวไทยขึ้น (ไทยคอมมูนิตี้ เซอร์วิส) เพื่อช่วยชุมชนไทย (มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Immigrant Acculturation Project = TIAP) โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในกรณีรีบด่วนเช่นการสื่อสาร การคมนาคมและการแสวงหาความช่วยเหลืออื่นๆ โครงการนี้ รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร ค่าเช่าที่ทำการและค่าใช้จ่ายในสำนักงานอย่างประหยัดโครงการนี้ดำเนินมาได้ 2 ปีหมดเทอมของหลวงพ่อ ก็ไม่ได้ต่ออายุโครงการอีก แต่ทราบว่าหน่วยชุมชนอิสระอื่นๆ ของไทย ได้ยื่นขออนุญาตทำต่อในชื่อโครงการอื่นโดยวัดไทยไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว
ท่านได้ก่อตั้งสมาคมไทย-อเมริกันขึ้น และจดทะเบียนเป็นสมาคมถูกต้องตามกฎหมาย ของมลรัฐคาลิฟอร์เนียสมาชิกก็คือคนไทยที่อยู่ในคาลิฟอร์เนียภาคเหนือ (ซาน ฟรานซิสโก) ภาคใต้ (ลอสแองเจลีส) ร่วมกันดำเนินการในกิจการของสมาคม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคราวจำเป็น
หลวงพ่อ เป็นกรรมการอุปถัมภ์และที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เริ่มต้นจนตลอดชีวิตของท่าน
หลวงพ่อ เป็นกรรมการอุปถัมภ์และที่ปรึกษา โครงการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จนตลอดชีวิตของท่าน เช่นกัน
หลวงพ่อได้จัดตั้งมูลนิธิพุทธจักรมงคลศรีบุญยเขต (ปี พ.ศ. 2527) พร้อมกับสร้างวัดพุทธจักรมงคลชยารามเพราะท่านตั้งใจไว้ว่า จะสร้างชุมชนผู้สูงอายุไว้รอบวัด และพยายามจะให้เป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุในอนาคตโดยให้มีพร้อมทั้งหน่วยบริการทางสุขภาพ(กาย) และเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม (เพื่อสุขภาพทางจิต) เพราะท่านมองว่าในภายภาคหน้า ความจำเป็นทางเศรษฐกิจจะทำให้ครอบครัวลูกหลานมีเวลาให้กับผู้สูงอายุน้อยลง ลำพังสถานสงเคราะห์ผู้สูงวัยของทางราชการจะแบกรับไม่ไหว ทุกฝ่ายควรช่วยกันโดยเฉพาะสถาบันทางศาสนาที่หล่อเลี้ยงโดยศรัทธาของศาสนิกชน ควรจะต้องสนองตอบต่อความจำเป็นทางสังคม ในส่วนที่ไม่ขัดกับหลักพระธรรมวินัย
มูลนิธิพุทธจักรมงคลศรีบุญยเขตนี้ ปัจจุบันมียอดเงิน 900,000 บาทเศษ แต่ก็ไม่ทราบว่าในอนาคต จะดำเนินการอย่างไร เพราะคณะกรรมการผู้มีอำนาจบริหาร ต่างแยกย้ายกันไป ยากแก่การติดตาม จึงยังบอกไม่ได้ว่าเรื่องจะจบลงอย่างไรสำหรับเรื่องนี้ ผู้ที่พบท่านบ่อยจะรู้ดี ในขณะที่กำลังสร้างวัดพุทธจักรมงคลชยาราม เวลาท่านที่เคารพนับถือ หรือลูกศิษย์ลูกหาผู้ที่พอมีกำลังเหลือไปพบหลวงพ่อ ท่านจะชวนให้ช่วยกันซื้อที่รอบวัด เพื่อโครงการอาคารสงเคราะห์นี้เสมอ ๆ


ฉากสุดท้าย
พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ถ้าดูภาพทั่วไปจะเห็นมีญาติโยม ลูกศิษย์มากมาย มาถวายสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่หลวงพ่อท่านก็บริโภคขบฉันเท่าที่จำเป็น บริจาค เสียสละส่วนเกินเพื่อผู้อื่น ถ้าเหลือเป็นกลุ่มก้อนก็จะบริจาคสร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ ท่านมีชีวิตเรียบง่ายและพอเพียงแต่เป็นระบบ เจ้าระเบียบและเข้มงวด ลูกศิษย์ใกล้ชิดบางคนจะบอกว่าท่านดุ เพราะท่านจะบังคับให้ทำให้ได้ ท่านเป็นคนเข้มแข็งและแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านพักผ่อนน้อย แต่ท่านหลับได้ง่าย แม้จะมีกิจนิมนต์ต้องเดินทางบ่อย ๆ ท่านก็ยังเจียดเวลาพักผ่อนพร้อมกับการเดินทางได้
จนเมื่อปี พ.ศ. 2542 ท่านเริ่มมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ร่างกายในซีกซ้าย ไม่มีแรง ได้เข้ารับการตรวจร่างกาย และรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระยะแรก ๆ การรักษาไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะเวลาใดที่ท่านสามารถไปไหนมาไหนได้ ท่านก็จะไปเพื่อฉลองศรัทธาของลูกศิษย์ หลังจากนั้นท่านก็เริ่มมีโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคที่จะต้องรักษาแบบควบคุม ไม่ใช่โรคที่รักษาให้หายขาดและอาการเจ็บไข้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร่างกายก็เสื่อมลงตามวัย
เมื่อปี พ.ศ. 2544 - 2545 ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเดชาหลายเดือนจนอาการท่านดีขึ้น สามารถกลับมาพักรักษาตัวที่วัดได้ท่านก็กลับวัด โดยมีพระภิกษุคอยดูแลปรนนิบัติ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง ปีพ.ศ. 2546 ประมาณกลางปี พระครูปลัดสรพงศ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นเหลนของหลวงปู่ ก็ได้มีศรัทธาเข้ามาเป็นผู้ดูแล (คิลานุปัฏฐาก) และหลังจากนั้น พระครูสมุห์มานะซึ่งสนิทสนมกับพระครูปลัดสรพงศ์ ก็อาสามาช่วยดูแลอีกรูปหนึ่ง ประกอบกับท่านเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะตัวในการปรับภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมและพระภิกษุผู้ดูแลทั้งสองรูปก็ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีเรื่อยมาอย่างหาที่ติมิได้ (ตั้งแต่นั้น จนถึงวันสุดท้าย) เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2546 คุณหมอวีรยุทธเชาว์ปรีชา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกจากโรงพยาบาลวิภาวดีได้มาพบท่าน เห็นว่าเป็นอาการที่น่าจะรักษาให้หายได้ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดจึงกราบนมัสการนิมนต์ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี อาการดีขึ้นบ้างแล้วท่านก็กลับมารักษาตัวที่วัดและได้กลับไปรับการรักษาอีกครั้ง ทางโรงพยาบาลและคุณหมอได้ถวายการรักษาและค่ารักษาพยาบาลแก่หลวงพ่อฯทั้งหมดคณะศิษย์ของหลวงพ่อทุกท่าน/ทุกคนขออนุโมทนา และขอบคุณเป็นอย่างสูง หลวงพ่อมาหัดเดินอยู่ที่วัด เกิดขาอ่อนแรงทำให้ท่านทรุดตัวนั่งกระแทกลง ท่านบ่นว่าเจ็บที่สะโพก แต่ไม่มากนัก ทุกคนคิดว่าอีกไม่กี่วันคงหาย แต่ใกล้เวลาที่ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ จึงต้องให้หมอตรวจร่างกายก่อน ท่านจึงไปให้หมอตรวจร่างกาย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กลับพบว่ากระดูกสะโพกร้าว ในที่สุดต้องผ่าตัดและนอนพักฟื้นนานพอสมควรที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จนต้องงดการเดินทางในคราวนั้น
ท่านเดินทางกลับจากอเมริกาครั้งสุดท้าย เมื่อปลายปี 2550 ก็ได้เตรียมจัดงานฉลองอาคารพิพิธภัณฑ์ -ห้องสมุดที่ท่านสร้างขึ้นเป็นผลงานสุดท้าย ณ วัดแสนเกษม เขตหนองจอก แต่การก่อสร้างยังไม่ค่อยเรียบร้อย ต้องเก็บงานที่เหลืออีกระยะหนึ่ง และจัดงานฉลองขึ้น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 อีก 3 วันจากนั้น คือวันที่ 13 พฤษภาคม ท่านก็ต้องเข้ารักษาตัว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะเห็นว่ามีประวัติการเจ็บป่วย (เวชระเบียน) อยู่ที่นี่แล้ว จากการตรวจอย่างละเอียดของคณะแพทย์ พบว่าเนื้อร้าย (มะเร็ง) ในลำไส้เริ่มพัฒนา ในทางกลับ กันแนวต้านในร่างกายก็ลดลงเรื่อยๆ หลังจากคณะแพทย์ได้พยายามหาทางเยียวยา และท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจร่วมกันกับคณะลูกศิษย์ว่าไม่ตัดเนื้อร้าย ไม่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด เพราะจะทำให้ท่านเจ็บปวดมากขึ้น และกระตุ้นให้เนื้อร้ายพัฒนาเร็วขึ้น เพราะสังขารของท่านอาจไม่สามารถต้านทานต่อผลข้างเคียงของการรักษาบางวิธี
ท่านกลับมาพักฟื้นที่วัด 2 เดือน วันที่ 6 กันยายน ต้องกลับไปโรงพยาบาลอีกเป็นครั้งที่ 2 หมอดูแลอยู่ 10 วัน จนถึงวันที่ 16 กันยายนหมอเห็นว่าท่านดีขึ้นแล้วอยากให้กลับวัด เพราะการอยู่โรงพยาบาลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็ตกลงกลับวัดอีกครั้ง กลับมาคราวนี้เพียง 3 วันท่านมีอาการไข้สูงก็ต้องกลับเข้าโรงพระบาลอีกครั้ง วันนั้น เป็นเวลาเย็นฝนก็ตกเป็นฟ้ารั่วมองไปที่ไหนก็มืดมิด แต่ไม่มีอะไรจะกีดกั้นไว้ได้ ลูกศิษย์ได้พาหลวงพ่อฝ่าสายฝนไปจนถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาฯจนได้ คราวนี้อยู่นาน... จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ขณะที่ลูกศิษย์ลูกหาส่วนหนึ่งกำลังเตรียมข้าวของ เพื่อตักบาตรในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ (4 ธันวาคม) ดังที่เคยปฏิบัติมาเช่นทุก ๆ ปี เวลา 5 โมงเย็นเศษ หลวงพ่อก็ได้ละสังขารไปเสียก่อน ณ เวลาเช่นนี้เอง สัจธรรมได้ปรากฏชัด ศิษย์ทุกคนเข้าใจดีว่า แม้จะโศกเศร้าอาลัยอย่างไร แต่เราไม่มีอำนาจต่อรองหรือแม้จะขอผ่อนผันกับพญามัจจุราช ผู้มีรี้พลเป็นจำนวนมาก...งานทุกอย่างก็ต้องดำเนินไปอย่างดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การตักบาตรวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อฯ ก็ดำเนินไปตามปกติ แม้สังขารของหลวงพ่อจะยังฝากอยู่ที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เพราะติดวันหยุดราชการสำคัญ
พระภิกษุผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก (เฝ้าไข้) และลูกศิษย์ที่จะต้องไปเยี่ยมไข้หลวงพ่อบ่อย ๆ ได้พบเห็นการปฏิบัติงานของคุณหมอ, พยาบาล และเจ้าหน้าที่นานวันเข้า ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันมากขึ้น เพราะท่านเหล่านั้นต้องปฏิบัติดูแล ผู้คนที่ไม่รู้จักมักคุ้น ด้วยความรู้สึกจริงใจ และหวังดีไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพอย่าง ได้พบเห็นเหตุการณ์อย่างนี้แทบทุกวันคณะลูกศิษย์ของหลวงพ่อขอชมเชยในน้ำใจอันสูงส่งนี้ และขอขอบคุณในความเอื้ออาทรเป็นอย่างสูง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ฯ


บุญมา กองเสนา ผู้รวบรวม

Last Update : September 17, 2012

HOME |ประวัติวัด | ร.ร.สอนภาษา | ติดต่อวัด | แผนที่ | ข่าวพุทธจักรฯ

Since : Sunday, June 28,2009
กลับหน้าแรก HOME